News

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฟ้อง Apple ผูกขาดตลาดหรือไม่?

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ พร้อมด้วยรัฐต่างๆ กว่าสิบแห่ง ได้ยื่นฟ้อง Apple ในคดีผูกขาด นี่ไม่ใช่แค่ข่าวธุรกิจทั่วๆ ไป แต่เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงว่า Appleใช้อำนาจเหนือตลาดและออกนโยบายที่จำกัดการแข่งขัน โดยกระทรวงยุติธรรมฯ มองว่า Apple มีการผูกขาดตลาดสมาร์ตโฟน

ข้อฟ้องร้องดังกล่าวอ้างว่า Apple พยายามสร้างระบบนิเวศปิด ทำให้ผู้ใช้ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ของบริษัทเท่านั้น Apple ถูกกล่าวหาว่าควบคุมนักพัฒนาซอฟต์แวร์และคู่ค้าที่ต้องการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มของตน ทุกแอปบน iPhone ต้องขายผ่าน App Store ที่ซึ่ง Apple หักค่านายหน้าถึง 30% Apple ยังมีการจำกัดคุณสมบัติบางอย่างให้เฉพาะผู้ใช้ iPhone เช่น การชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่าย เป็นต้น

ข้อกล่าวหาหลักที่มีต่อ Apple

  • ปิดกั้น “ซูเปอร์แอป”: แอปพลิเคชันที่ใช้งานได้หลากหลายและครอบคลุมอุปกรณ์ต่างๆ
  • สกัดกั้นเกมบนคลาวด์: รูปแบบการเล่นเกมที่เน้นการประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ ทำให้เกมเมอร์ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์สุดแพง Apple อาจมองว่าสิ่งนี้ลดทอนความสำคัญของ iPhone รุ่นท็อปของตน
  • บีบพื้นที่แอปฯ แชตอื่นๆ: ด้วยการป้องกันไม่ให้ iMessage รองรับข้อความจากผู้ให้บริการรายอื่น ไอคอน “ฟองเขียว” กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผู้ใช้ iPhone
  • จำกัดการเลือกสมาร์ตวอทช์: ความสามารถในการใช้งานต่างๆ ถูกปิดกั้นหากผู้ใช้ iPhone ไม่ได้ใช้ Apple Watch เช่น การตอบข้อความจากนาฬิกา
  • ขวางระบบชำระเงินดิจิทัล: กระทรวงยุติธรรมฯ มองว่า Apple ควรเปิดให้ e-wallet อื่นๆ สามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ของตนได้อย่างเต็มที่

ฝ่ายฟ้องร้องเชื่อว่านโยบายของ Apple ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียกับผู้บริโภคโดยการจำกัดทางเลือก แต่ยังลดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ของทั้งนักพัฒนาภายนอกและตัว Apple เอง เนื่องจากผู้ใช้ถูกผูกติดกับระบบนิเวศอยู่แล้ว

คำโต้แย้งของ Apple

แน่นอนว่า Apple ไม่พอใจกับฟ้องร้องนี้ ทางบริษัทออกแถลงการณ์ว่า:

Apple มีความมุ่งมั่นในการคิดค้นเทคโนโลยีที่ผู้คนชื่นชอบ เราใส่ใจในการปกป้องความเป็นส่วนตัว ผสานการทำงานอย่างลงตัวระหว่างผลิตภัณฑ์ และทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์อันยอดเยี่ยม คดีฟ้องร้องนี้ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย หากประสบความสำเร็จ จะเท่ากับเป็นการกีดกันไม่ให้เราพัฒนาเทคโนโลยีที่ผู้ใช้คาดหวังจาก Apple

Apple เคยเผชิญกับข้อครหาเรื่องการผูกขาดมาแล้ว โดยคดีที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ Epic Games บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ต่อสู้กับการเก็บค่าธรรมเนียม 30% ของ Apple สุดท้ายศาลตัดสินว่า Apple ไม่ได้ผูกขาดตลาด App Store ทว่าในยุโรป Apple พบกับคำสั่งของคณะกรรมาธิการยุโรปให้เปิดแพลตฟอร์มมากขึ้น รวมถึงการอนุญาตให้มี app store อื่นๆ และการยอมให้มี digital wallet ของผู้ผลิตรายอื่น (อย่างไรก็ตาม iMessage ยังคงเป็นระบบปิดต่อไป)

สรุป

คดีนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญ Apple มีความพยายามในการดึงผู้ใช้ไว้ในแพลตฟอร์มของตนอย่างเหนียวแน่นและควบคุมทั้งนักพัฒนาและผู้ใช้ที่อยู่ภายในระบบนี้ แต่เส้นแบ่งระหว่างการจัดการที่เหมาะสมกับการใช้อำนาจเหนือตลาดอาจเลือนลาง คำตัดสินในครั้งนี้จะมีผลกระทบสำคัญต่อวงการเทคโนโลยีอย่างแน่นอน

Tanjen S.

ติดตามข่าวสารล่าสุดในวงการไอทีและเกมส์ วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอเป็นบทความข่าวที่น่าสนใจ อ่านง่าย และเข้าใจง่าย

Related Articles